Saturday, February 10, 2007

จดหมายจากมูลนิธิ

สวัสดีค่ะ เพื่อนสมาชิกมูลนิธิพันดาราและผู้ร่วมทำบุญกับมูลนิธิ

ในวาระที่วันปีใหม่ทิเบตกำลังจะมาเยือน ปีนี้ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หนึ่งวันหลังจากวันตรุษจีน ดิฉันเลยถือโอกาสนี้มาอวยพรปีใหม่ ขอให้ทุกๆคนมีแต่ความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในการงาน การดำรงชีวิต และการปฏิบัติธรรม โลซา ต้าชี่เตเล พุนซุมสก!

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสเดินทางไปทิเบตเพื่อไปปล่อยชีวิตจามรี และไปถวายปัจจัยแด่พระภิกษุทิเบตที่กำลังจำศีล 3 ปี 3 เดือนที่วิทยาลัยซกเช็น วัดตกเต็น (Dokden Monastery) ได้ถือโอกาสนี้เป็นการทำบุญปีใหม่ของมูลนิธิ
ดิฉันยังมีโอกาสเดินทางไปเยือนวัดยุงตรุง ลาเต็ง (Yungdrung Lhateng Monastery) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเขตจารง เขตนี้เคยเป็นแคว้นสำคัญบริเวณพรมแดนจีน-ทิเบต ชาวจารงมองว่าตัวเองเป็นชาวทิเบต แต่พวกเขาพูดภาษาต่างออกไป นอกจากนี้ ดิฉันยังได้สัมภาษณ์ผู้เฒ่าชาวทิเบต ทั้งที่เป็นพระภิกษุ และชาวบ้านธรรมดา เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการมองโลกของผู้สูงวัย



แม้เวลา 9 วันที่เดินทางไปคราวนี้จะเป็นเวลาสั้นๆและเป็นช่วงที่หนาวเย็นที่สุดของทิเบต แต่ก็เป็นวันเวลาที่นำมาซึ่งความสุขใจ เมื่อกลับมาเมืองไทย บ่อยครั้งที่ดิฉันนึกถึงภาพจามรีตัวเมีย 2 ตัว (ภาษาทิเบตเรียกจามรีตัวเมียว่า "ตรี") ยืนกินฟางอย่างมีความสุขในบ้านใหม่หลังจากที่เราได้ไถ่ชีวิตมัน

ดิฉันตั้งชื่อตัวหนึ่งว่า "เตรอมา" อีกตัวตั้งชื่อว่า "ปัลเด็น ลาโม"
ตัวที่ชื่อว่าเตรอมาดิฉันได้ตั้งจิตอธิษฐานให้มันอยู่ในความคุ้มครองของพระแม่ตารา มันกำลังตั้งท้อง เราจึงได้ปล่อยทีเดียว 2 ชีวิต ส่วนปัลเด็น ลาโม (ตัวที่มีแต้มสีขาวที่ใบหน้า) ก็ขอให้มันอยู่ในความคุ้มครองของพระศรีเทวีหรือปัลเด็น ลาโม พระโพธิสัตว์คุ้มครองประจำทิเบตและองค์ดาไลลามะ พระองค์ทรงเป็นปางพิโรธของพระแม่ตารา



ในรูปเราจะเห็นผ้าหลากสีที่ห้อยอยู่บริเวณหูและลำตัวของจามรี ผ้าเหล่านี้เราเขียนคาถาหัวใจของพระโพธิสัตว์ไว้ เย็บกับขนของมัน เราทาเนยไว้ที่จมูกและเท้าของมัน สัญลักษณ์ว่ามันได้ชีวิตใหม่ ครอบครัวใหม่ของเตรอมาและปัลเด็นเป็นครอบครัวของน้องสาวของเยินเต็น ผู้ช่วยของมูลนิธิ พวกเขาดีใจที่ได้สมาชิกใหม่ที่จะนำนมเนยมาให้แก่ครอบครัว



ขอบคุณคุณอารีรัตน์ เจ้าหน้าที่และศิษย์ภาษาศาสตร์ ได้แก่ คุณวลัยพร บี ต่าย ปนันดา และแชมเปญ รวมทั้งคุณมะลิแห่งสถานกงสุลไทยที่เฉิงตูที่ร่วมไถ่ชีวิตจามรีในครั้งนี้ เจ้าของเดิมของจามรีเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เขาร่วมอนุโมทนากับพวกเราด้วย โดยคิดราคาพิเศษตัวละ 1,200 หยวน ในวันที่ไถ่ชีวิต ชาวบ้านในหมู่บ้านมาร่วมงานหลายคน เสียดายว่าเราไม่สามารถจะไถ่ชีวิตของจามรีทุกตัวที่เจ้าของพาลงมาจากภูเขา


ที่วัดยุงตรุง ลาเต็ง ดิฉันสัมภาษณ์ลามะเปมา รินเช็น เจ้าอาวาส ผู้ปฏิบัติ "เจอด" (Chod) หรือ การอุทิศร่างกายให้เป็นทาน (body offering) ท่านอายุประมาณ 40 ปี ท่านผ่านการอยู่จำศีล 3 ปี 3 เดือนที่วิทยาลัยซกเช็น วัดตกเต็นและจำศีล 18 เดือนสำหรับปฏิบัติเจอดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ท่านยังเคยธุดงค์ไปตามสุสาน ลำธาร ภูเขา ป่ารก สถานที่ละ 100 แห่ง เพื่อสวดเจอดอันเป็นการตั้งจิตอุทิศร่างกายของผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อถวายเป็นเครื่องบูชาแด่เทพและให้เป็นอาหารแก่วิญญาณและเปรตรวมทั้งผู้ที่คนไทยเรียกว่า "เจ้ากรรมนายเวร" การปฏิบัตินี้จริงๆแล้วคือการฝึกจิตให้เกิดความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ให้ไม่ยึดติดกับร่างกายหรือกิเลสทั้งหลาย ให้เข้าใจสภาวะดั้งเดิมแห่งธรรมชาติอันเป็นศูนยตา ให้มีจิตไม่แบ่งแยก เป็นคำสอนซกเช็นที่สำคัญ

ขากลับเมืองไทย ดิฉันพาท่านฑากินีปัลเด็น เชอโซมาด้วย
มูลนิธิได้นิมนต์ท่านมาบรรยายเรื่องมรณสติแบบทิเบต และการฝึกสมาธิถึงพระอมิตาภพุทธเจ้า ในวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 และทำพิธีมนตราภิเษกพระแม่ตาราขาวเพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อขอให้ประทานอายุยืนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์อันเป็นวันที่ 10 ตามปฏิทินทิเบต เป็นวันพระคุรุปัทมสมภพวันสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเกี่ยวกับพระอมิตาภพุทธเจ้า ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากนักวิชาการพุทธหลายท่านที่มาเป็นวิทยากร อาทิ อาจารย์เศรษฐพงศ์ จงสงวน รศ. ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผศ. ดร. ประทุม อังกูรโรหิต ผศ. ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ และรศ. ดร. สมภาร พรมทา สาระจากการประชุมจะได้ตีพิมพ์ในสารพันดารา



ขอบคุณผู้ช่วยงานพระอมิตาภะทุกๆคน โดยเฉพาะคุณอารีรัตน์ ป้อม จวง จัมปา ญีมา การ์มา เชรับ ธนุวัฒน์ และวัชรดารา คุณจิ๊ก (Jick Ryan) ได้มอบไดอารี่ที่มีชื่อว่า "A Journey to a Remarkable Pure Land" จำนวนหนึ่งให้แก่มูลนิธิเพื่อให้มูลนิธินำไปขายเพื่อหารายได้มาดำเนินงานกิจการของมูลนิธิ

ไดอารี่เล่มนี้ประกอบด้วยภาพสวยงามจากทิเบตที่คุณจิ๊กเป็นคนถ่ายเองและเป็นคนเล่าเรื่อง คุณเต็ง (Vancelee Teng) เพื่อนชาวมาเลเซียของคุณจิ๊กก็ได้มอบหนังสือบันทึกความประทับใจ จากการเดินทางและสมุดไดอารี่ให้แก่มูลนิธิเพื่อช่วยหารายได้ให้มูลนิธิเช่นกัน ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณคุณจิ๊กกับคุณเต็งมากค่ะ ขอเชิญชวนให้พวกเราช่วยกันซื้อสมุดบันทึกที่ทำด้วยใจทั้งสองชุดนี้ นอกจากจะได้สนับสนุนงานของมูลนิธิแล้ว ก็จะเป็นกำลังใจให้แก่ผู้จัดทำที่เป็นนักเดินทางชาวเอเซียทั้งสองท่านนี้อีกด้วย

ในเดือนมีนาคมนี้มูลนิธิจะจัดงานอีก วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม จะมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการแพทย์ทิเบตและการมีสุขภาพดีที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีหมอทิเบต 2 ท่านที่มีชื่อเสียงทั้งในทิเบต อินเดียและสหรัฐอเมริกามาบรรยาย

ท่านหนึ่งชื่อ ดร. ล็อบซัง รับเก (Dr. Lobsang Rabgay) เคยเป็นแพทย์ที่ธรรมศาลาและทำงานกับองค์ดา-ไลลามะ ท่านจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ขณะนี้ทำงานที่ห้องปฏิบัติการจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มลรัฐลอส แองเจลิส คุณหมอล็อบซังเป็นผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับการบำบัดรักษาแบบทิเบตและการฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน ท่านจะมาบรรยายเรื่องการฝึกสติเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรคเครียด



ในการทำงานในสังคมปัจจุบันหลายคนประสบปัญหาความเครียด บางครั้งความเครียดเกิดมาจากปัญหาครอบครัว และทำให้ผู้เครียดป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดร. ล็อบซังได้ทดลองใช้การฝึกสติในพระพุทธศาสนา ในการบำบัดอาการและรักษาโรค ท่านจะมาเล่าให้เราฟังว่าท่านทำอย่างไร ได้ผลอย่างไร

ส่วนวิทยากรอีกท่านคือ ดร. ดิกกี้ เญรงชา (Dr. Dickey Nyerongsha) ศึกษาเล่าเรียนวิชาแพทย์จากสถาบันการแพทย์ที่ลาซา ครอบครัวของคุณหมอดิกกี้ เป็นหมอมาตลอด 7 รุ่นอายุ คุณหมอเชี่ยวชาญเรื่องการรักษาโรคและการป้องกันโรคโดยใช้โภชนาการ การบรรยายจะเน้นเรื่องการมีสุขภาพดีโดยการระมัดระวังเรื่องอาหาร ผู้ป่วยควรกินอาหารแบบใด ผู้ไม่ป่วยก็ควรจะกินอาหารแบบใดเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไปเพื่อให้เกิดการประสานกันระหว่างธาตุภายนอกกับธาตุภายใน
ค่าลงทะเบียนจากการบรรยายนี้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมอบให้คุณหมอดิกกี้ เพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษานักเรียนแพทย์ทิเบตและเด็กกำพร้าในทิเบต ทุนการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้ความช่วยเหลือชาวทิเบตของสถาบันเญรงชาเพื่อการแพทย์และวัฒน
ธรรม รายละเอียดของการบรรยายและงานของสถาบันนี้โปรดดูเว็บไซต์ของมูลนิธิและใบประชาสัมพันธ์ค่ะ

มูลนิธิได้สร้าง blog เพื่อบอกข่าวคราว เล่าเรื่อง เป็นสื่อสัมพันธ์ต่างๆ http://thousandstarsfoundation.blogspot.com หวังว่าจะเป็นเวทีอีกหนึ่งแห่งที่จะทำให้การประชาสัมพันธ์และการแจ้งข่าวกิจกรรมของมูลนิธิ ตลอดจนการเผยแพร่เรื่องราวของทิเบตและพระพุทธศาสนาวัชรยานกว้างขวางมากขึ้น

ในอนาคตอันใกล้มูลนิธิจะจัดกลุ่มสนทนาธรรมะประจำเดือนในวันเสาร์ เวลา 9.30-11.30 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สถานที่อาจเป็นโรงอาหารคณะฯ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกมูลนิธิได้มาพบปะสังสรรค์กัน และแลกเปลี่ยนซักถามเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพุทธศาสนาวัชรยาน รายละเอียดจะได้แจ้งให้ทราบ งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เราอาจจะเอาขนมหรืออาหารมารับประทานร่วมกัน หัวข้อที่จะสนทนาในครั้งแรกๆจะเป็น "การปฏิบัติพื้นฐานในพระพุทธศาสนาวัชรยาน"

สารพันดาราปีที่ 2 ฉบับที่ 3 จะพยายามออกให้ทันเดือนเมษายนค่ะ ต้องขออภัยในความล่าช้าเป็นอย่างยิ่ง จะมีบทบรรยายเรื่องซกเช็นของญีมา ทักปา ริมโปเช รายงานการประชุมกายกับใจ การฝึกสมาธิและการทำพิธีมนตราภิเษกพระอว-โลกิเตศวรและการทำพิธีมนตราภิเษกพระอมิตายุส เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทิเบตและวัชรยาน เรื่องประจำที่บางเรื่องขาดตอนไป ตลอดจนความก้าวหน้าของการก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม "ภัทรกัลป์ตาราขทิรวัณ"

ด้วยความปรารถนาดี
กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์

1 comment:

Unknown said...

what you want to tell the people about what you are .....you know what are you you doing now....
if you are happy you can do for sure.