Monday, October 27, 2008

โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง


คัมภีร์ มูลมธฺยมกการิกา หรือแปลเป็นไทยว่า "โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง" เป็นงานที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของพระพุทธศาสนา รจนาโดยพระอาจารย์นาคารชุน ซึ่งเชื่อกันว่าท่านมีชีวิตอยู่ในประเทศอินเดียตอนใต้ เมื่อราวศตวรรษที่สองหลังคริสตกาล ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญาพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "มาธยมิกะ" หรือ "สำนักทางสายกลาง" และงานชิ้นนี้ของท่านก็มีผู้ศึกษาเล่าเรียนและนำไปอ้างอิงกับบรรยายอธิบายความหมายในทุกๆวัฒนธรรม ที่พระพุทธศาสนาฝ่ายสันสกฤตได้แพร่กระจายไป ได้แก่ทิเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่นและมองโกเลีย นอกจากนี้ งานชิ้นนี้ยังมีความสำคัญตรงที่เป็นจุดตั้งต้นของการแพร่กระจายของการตีความอันหลากหลาย โดยที่นิกายย่อยสองนิกายภายในสำนักคิดมาธยมิกะ อันได้แก่สวตันตริกมาธยมิกะ และปราสังคิกมาธยมิกะ ก็มีจุดกำเนิดจากความแตกต่างในการตีความตัวบทในงานของท่านนาคารชุนนี้
เนื้อหาของ "โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง" เป็นการนำเสนอแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนา อันได้แก่เรื่องความว่างหรือ "ศูนยตา" (เขียนแบบบาลีได้ว่า "สุญญตา") โดยศูนยตานี้เป็นเนื้อหาของทางสายกลางที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และท่านนาคารชุนได้นำมาขยายความอย่างละเอียดพิสดาร เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจประเด็นและแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับศูนยตาและทางสายกลางอย่างละเอียด ทั้งนี้ก็อยู่ภายในขอบเขตของคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด มีนักวิชาการบางฝ่ายที่เสนอว่า ข้อเขียนของท่านนาคารชุนในงานชิ้นนี้ มีบางส่วนที่เป็นการนำเสนอเนื้อหาใหม่เพิ่มไปจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ แต่หากพิจารณางานชิ้นนี้อย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า ไม่มีโศลกใดเลยที่จะเสนอคำสอนที่เกินเลยหรือไม่ตรงต่อจุดมุ่งหมายหลักของพระพุทธเจ้าในการสอนสรรพสัตว์เพื่อให้เข้าใจหนทางแห่งการพ้นทุกข์ จุดที่งานของท่านนาคารชุนเพิ่มเข้ามาก็คือ การอธิบายและการให้เหตุผลสนับสนุนคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเป็นระบบ จุดสำคัญอยู่ที่การอ้างเหตุผล อาจกล่าวได้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระสูตรนั้น เป็นคำสอนเบื้องต้นที่มิได้มุ่งอธิบายความเป็นมาเป็นไป หรือเหตุผลเบื้องหลังอย่างละเอียด แต่เมื่อพระพุทธศาสนามีการพัฒนามากขึ้นทางด้านความคิดและเหตุผล ก็จึงเกิดความพยายามที่จะทำคำสอนเหล่านี้ให้เป็นระบบ และมีเหตุผลรองรับเพื่อให้ผู้ที่ยังสงสัยอยู่ หรือขาดศรัทธาในคำสอนของพระพุทธศาสนา ได้เกิดศรัทธาจากการศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการของเหตุผลต่างๆ ที่ท่านนาคารชุนได้นำเสนอในงานชิ้นนี้ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า "โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง" นี้เป็น "อรรถกถา" ที่อธิบายคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นนั่นเอง ใน "โศลกมูลฐาน" เราจะเห็นว่า ท่านนาคารชุนได้วิเคราะห์คำสำคัญๆในพระพุทธศาสนาไว้หมด เช่น อริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท อวิชชา เหตุ ปัจจัย และอื่นๆ อันจะทำให้เราเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

จากหนังสือ "โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง" ของท่านนาคารชุน สำนักพิมพ์มูลนิธิพันดาราจัดทำ เป็นเล่มที่สามของชุดหนังสือ "คำสอนจากมหาวิทยาลัยนาลันทา" มีวางจำหน่ายแล้วที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

No comments: