มูลนิธิพันดารา
ขอเชิญร่วมพิธีเปิดศาลาปฏิบัติธรรม "วสุตารา"
และพิธีมนตราภิเษกพระโพธิสัตว์ตารา (Tara Empowerment)
ศูนย์ขทิรวัน หัวหิน
วันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๓๐-๑๕.๓๐ น.
เกี่ยวกับศาลาวสุตารา
"วสุตารา" หมายถึง "พระแม่ตาราแห่งแผ่นดิน" ผู้ประทานความเป็นปึกแผ่นในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติธรรม และผู้ประทานพรในการบำบัดรักษาโรคและความทุกข์ทั้งมวล ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ มูลนิธิพันดาราได้จัดสวดมนตร์และนั่งสมาธิกรรมฐานที่ศูนย์ขทิรวัน โดยจัดขึ้นภายใน "สถูปมนตร์ประภัสสร" ซึ่งเป็นสถูปผ้าประกอบด้วยธงมนตร์ภาษาทิเบตหลายพันผืนแต่เนื่องจากสถูปมนตร์ไม่มีความคงทน ธงมนตร์เปื่อยสลายไปตาม กาลเวลาและไม่สามารถกันฝนได้ มูลนิธิจึงมีความจำเป็นต้องสร้างศาลาปฏิบัติธรรมซึ่งจะมีโครงสร้าง แข็งแรง รูปทรงกลม ทรงสถูปมนตร์ ทนทานใช้งานได้ในทุกฤดูกาล โดยมีขนาด ๑๑ x ๑๑ เมตร รองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ ๖๐ คนศาลานี้ประกอบด้วยที่บูชาพระ ที่นั่งสมาธิภาวนา/อบรมสัมมนา บริเวณเก็บสัมภาระ ด้านหลังมีห้องสุขาและห้องอาบน้ำแยกชาย-หญิง
เกี่ยวกับพระแม่ตารา
พระมหาโพธิสัตว์อารยาตารา (ภาษาทิเบต: เจซูน เตรอมา) เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ทรงกำเนิดจากน้ำพระเนตรของพระอวโลกิเตศวร เมื่อครั้งที่ทรงพระกรรแสงเนื่องจากทรงไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์ทั้งโลกทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ได้ พระโพธิสัตว์ตาราทรงเป็นที่รักและกราบบูชาของชาวพุทธในทิเบต หิมาลัยและมองโกเลีย พวกเขามักสวดคาถาหัวใจ "โอม ตาเร ตุตาเร ตุเร โซฮา" และสวดบทสรรเสริญตารา ๒๑ องค์
พระโพธิสัตว์ตาราทรงมี ๒๑ ปาง แต่ปางที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ตาราเขียว (ขทิรวนีตารา) และตาราขาว (จินดามณีจักรตารา) ตาราเขียวเป็นปางคุ้มครองนักเดินทางจากภัยอันตราย ทรงประทานพรให้พ้นจากความทุกข์ ความกลัว และดลบันดาลให้การงานสำเร็จโดยเร็ว ตาราขาวเป็นปางประทานอายุยืนยาวและการบำบัดรักษาโรค สายสัมพันธ์หนึ่งที่คนไทยมีต่อพระองค์คือทรงเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งมูลนิธิพันดารา
เกี่ยวกับพิธีมนตราภิเษก
พิธีมนตราภิเษก ตรงกับภาษาอังกฤษว่า empowerment หรือ initiation เป็นพิธีตามประเพณีศาสนาพุทธวัชรยานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้รับพรจากพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าผ่านพระอาจารย์ผู้ทำพิธีผู้ได้รับการถ่ายทอดคำสอนตามสายการปฏิบัติธรรม การเข้าร่วมพิธีนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถสวดคาถาหัวใจของพระองค์และนั่งสมาธิถึงพระองค์ได้ อานิสงส์ของการได้รับมนตราภิเษก ทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และได้บ่มเพาะความเมตตากรุณา
ก่อนการเข้าร่วมพิธี ผู้ปฏิบัติธรรมควรตั้งจิตว่าจะเข้าร่วมพิธีเพื่อประโยชน์ของตนเองและสัตว์ทั้งหลาย ให้การได้รับมนตราภิเษกเป็นดังการหว่านเมล็ดพันธ์ุแห่งการตรัสรู้ธรรม เมื่อได้รับมนตราภิเษกพระแม่ตาราแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมควรหมั่นสวดคาถาหัวใจและนั่งสมาธิถึงพระองค์เป็นนิจ หากได้ทำเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมก็จะพบแต่ความสุขในชีวิตและได้รับผลของการปฏิบัติบูชาพระโพธิสัตว์
กำหนดการ
๑๐.๓๐ พร้อมกันที่ศูนย์ขทิรวัน
๑๑.๐๙ พิธีเปิดศาลาวสุตารา
๑๑.๓๐ รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ พิธีมนตราภิเษกพระโพธิสัตว์ตารา (พระขทิรวนีตารา) ระหว่างพิธี ริมโปเชจะนำภาวนาสอนการนั่งสมาธิถึงพระแม่ตาราและให้พร
๑๕.๐๐ รับประทานอาหารว่าง สนทนาธรรมตามอัธยาศัย
๑๕.๓๐ เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
หมายเหตุ
ไม่เก็บค่าลงทะเบียน สำหรับท่านที่มีความประสงค์จะให้มูลนิธิจัดรถตู้รับ-ส่งให้ (ค่าใช้จ่ายท่านละ ๔๐๐ บาท)
ขอความกรุณาท่านแจ้งให้ทราบภายในวันจันทร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่ 1000tara@gmail.com โทร ๐๒ ๕๑๑ ๔๑๑๒ มือถือ ๐๘๖ ๙๗๗ ๕๘๖๗
เกี่ยวกับพระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช
กุงกา ซังโป ริมโปเช เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ในครอบครัวชนเผ่าเร่ร่อนที่ตำบล ปาทัง เมืองเจคุนโด เขตปกครองตนเองยูชู แคว้นคามมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน ทานมีโอกาสได้บวชเรียนเมื่ออายุ ๑๗ ปี โดยจำพรรษาที่วัดเจคุนโด วัดสาเกียปะที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองยูชู พระปฐมคุรุของท่านคือ อาตรัก ริมโปเช อาจารย์นักปฏิบัติคนสำคัญซึ่งมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พระอาจารย์ของท่านอีกรูปหนึ่งคือ ลูดิง เคนริมโปเช ประมุขนิกายงอเชนของสาเกียปะและเจ้าอาวาสวัดซังโงรูในนครลาซา ปัจจุบันลูดิง เคนริมโปเชจำพรรษาที่เมืองเดราห์ดุน ประเทศอินเดีย
เมื่ออายุ ๒๐ ปี กุงกา ซังโป ริมโปเชได้ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียน ภาษาทิเบตที่เมืองเดเก จากนั้น ท่านไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอาริก เชอตรา เชนโม ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับพระสงฆ์ ที่เมืองซาชูคา มณฑลเสฉวน ที่โรงเรียนนี้ ท่านได้ศึกษาพระธรรมเป็นเวลา ๖ ปีกับเปมา เซวัง เคนริมโปเช พระอาจารย์ญิงมาปะที่มีชื่อเสียง
หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนที่ซาชูคา ท่านมีโอกาสไปเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยพุทธศาสนาสายทิเบตแห่งประเทศจีน กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำคัญที่สุดที่หนึ่งสำหรับทุลกุ (นิรมาณกาย/พระกลับชาติมาเกิด) หลังจากนั้น ท่านสอนหนังสืออยู่ที่เจคุนโดเป็นเวลา ๙ ปี ในปี ๒๕๔๓ ท่านสอบเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์และปรัชญาทิเบตที่มหาวิทยาลัยชนชาติกลุ่มน้อยส่วนกลาง กรุงปักกิ่ง ในระหว่างที่อยู่ปักกิ่งนี้เอง ท่านได้สอนธรรมะให้แก่ลูกศิษย์ชาวจีนเป็นจำนวนมาก
การงาน
ด้วยความเป็นผู้คงแก่เรียน มีสติปัญญาดีเป็นเลิศ และเป็นที่รักของทุกคน ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวิทยาลัยสงฆ์ของวัดเจคุนโด ท่านมีผลงานมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและชุมชนชาวทิเบต อาทิ หนังสือรวมคำสอนของพระอาจารย์สาเกียปะ จำนวน ๒๑ เล่ม หนังสือพจนานุกรมภาษาทิเบต-จีน
ด้วยความเมตตาอย่างไม่มีที่สิ้่นสุด ริมโปเชยังสร้างและดูแลโรงเรียนประถมศึกษาปาทังที่บ้านเกิดของท่าน โรงเรียนนี้อยู่ในความอุปการะของมูลนิธิพันดาราด้วยและดำริสร้างวัดแสงจันทร์ ที่ภูเขาหวู่ไท่ซาน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระมัญชุศรี
แม้ว่าริมโปเชจะมีภารกิจมากในประเทศจีน ท่านเจียดเวลาเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งเพื่อบรรยายธรรมและประกอบพิธีมนตราภิเษกตามคำขอของมูลนิธิพันดารา ได้แก่ พิธีมนตราภิเษกตารา ๒๑ องค์ (๒๕๔๘) พิธีมนตราภิเษกพระมัญชุศรี (๒๕๔๙) และพิธีมนตราภิเษกพระอวโลกิเตศวร (๒๕๕๐)
No comments:
Post a Comment