Tuesday, June 8, 2010

จาริกแสวงบุญกับการเดินทางของจิตใจ

The foundation is organizing a conference and seminar (in Thai) on “Pilgrimage and Journey of the Mind” at Chulalongkorn University, Bangkok on July 17, 2010. The talks will cover various spiritual traditions and sacred places in Europe and Asia, including Mt. Kailash. Please contact 1000tara@gmail.com for detail.


การประชุมและเสวนาเรื่อง

“การจาริกแสวงบุญ กับการเดินทางของจิตใจ”

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดโดย มูลนิธิพันดารา ร่วมกับ ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการและเหตุผล
การเคลื่อนไหวกับการเดินทางเป็นอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันจะทำ มนุษย์อยากจะสำรวจโลกของตัวเองทันทีที่เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้ เรามีความปรารถนาอยู่เสมอที่จะไปยังที่นั่นที่นี่ เพื่อรู้ว่าที่เหล่านั้นเป็นอย่างไร และดีกว่าที่ที่เราอยู่ในปัจจุบันอย่างไร เด็กทารกมีความสุขกับการใช้เสรีภาพที่เกิดขึ้นจากการรู้จักการใช้มือและเท้าคลานไปมา หลังจากที่ก่อนหน้านั้นต้องเอาแต่นอนอยู่เฉยๆอย่างเดียว การเคลื่อนที่ได้นี้เป็นการเปิดโลกใหม่ของเด็ก ทำให้รู้ว่าโลกนั้นกว้างใหญ่และมีสิ่งต่างๆที่น่าตื่นเต้นรอการค้นพบอยู่มากมาย

เมื่อเราเติบโตขึ้นความปรารถนาที่จะเดินทางไปยังที่ต่างๆก็ยิ่งกว้างไกลมากขึ้น การเดินทางของเรามีทั้งที่จำเป็น เช่นการไปทำงาน และที่เป็นเรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจ เช่นการท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ เป้าหมายของการเดินทางของคนในโลกสมัยใหม่ดูเหมือนว่าจะมีเพียงสองประการนี้เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำถามที่กองตรวจคนเข้าเมืองบางประเทศถามแก่คนที่เดินทางเข้ายังประเทศของตน ว่าจะเดินทางมาด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรือเพื่อความเพลิดเพลิน

อย่างไรก็ตาม มิติที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของการเดินทาง ได้แก่การเดินทางอันเนื่องจากจิตวิญญาณและศาสนา การเดินทางเช่นนี้เรียกว่า “การจาริกแสวงบุญ” (pilgrimage) เป็นการเดินทางเพื่อสั่งสมบุญบารมี หรือเพื่อปฏิบัติกิจตามคำสอนของศาสนาต่างๆ การเดินทางเช่นนี้นับว่าต่างจากการเดินทางเกี่ยวกับการงาน หรือการเดินทางเพียงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น ที่น่าสนใจก็คือว่าศาสนาต่างๆล้วนแล้วแต่มีเรื่องการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น

ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าวิธีการหนึ่งในการปฏิบัติตนของชาวพุทธ คือการเดินทางไปยังสังเวชนียสถานต่างๆ ได้แก่สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ตรัสธรรมเทศนาครั้งแรก และสถานที่ปรินิพพานของพระองค์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ให้ชาวพุทธได้รำลึกถึงพระกรณียกิจต่างๆของพระพุทธเจ้า
ในศาสนาอิสลามก็มีคำสั่งสอนให้ชาวมุสลิมหาโอกาสเดินทางไปยังเมืองเมกกะในประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติศาสนกิจให้สมบูรณ์ด้วยการเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า

ในทำนองเดียวกัน ชาวพุทธในวิถีเพินและวัชรยาน ฮินดู และเชนก็ล้วนใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปเขาไกรลาศซึ่งเปรียบเป็นเขาพระสุเมรุบนโลกมนุษย์ การเดินทางไม่ว่าจะยากลำบากเพียงไรหล่อเลี้ยงจิตใจของพวกเขาและทำให้พวกเขาได้ใกล้ชิดกับความจริงสูงสุด

การเดินทางด้วยเหตุผลทางจิตวิญญาณและศาสนาเช่นนี้นับวันล้วนแต่จะสูญหายไปจากจิตสำนึกของคนสมัยใหม่ ซึ่งแม้คนสมัยใหม่จะเดินทางกันมากมายด้วยความสะดวกรวดเร็วมากกว่าคนสมัยก่อน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะกำลังขาดออกจากมิติของการเดินทางเช่นนี้ ซึ่งไม่ใช่ทั้งการเดินทางเพื่อการงานอาชีพ และก็ไม่ใช่เพียงแค่ความเพลิดเพลินบันเทิงใจเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางยังมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบหมายถึง “การเดินทางของจิตใจ” อีกด้วย

เรามักจะเปรียบเทียบชีวิตว่าเหมือนกับการเดินทาง โดยวัยเด็กเป็นการเริ่มต้นเดินทาง วัยผู้ใหญ่เป็นช่วงเวลาที่กำลังเดินทาง และวัยชราเป็นการเข้าสู้จุดจบของการเดินทาง แต่คำสั่งสอนของศาสนาต่างๆมีตรงกันว่า การเดินทางของเรานั้นมิได้จบสิ้นแค่การตายหรือการแตกดับของร่างกายของเราในปัจจุบันนี้ แต่ยังมีการเดินทางหลังจากร่างกายแตกดับอีกด้วย ซึ่งมิติอันสำคัญยิ่งของชีวิตตรงนี้ เป็นสิ่งที่โลกสมัยใหม่รวมทั้งวิทยาศาสตร์มองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ คณะผู้จัดจึงได้จัดการประชุมและเสวนา “การจาริกแสวงบุญกับการเดินทางของจิตใจ” ขึ้น โดยมีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติธรรมในศาสนาต่างๆมาร่วมกันเสนอความคิดเห็น เพื่อนำเอามิติทางความหมายและจิตวิญญาณของการเดินทางกลับมาสู่สังคม และเพื่อให้ผู้คนได้เห็นคุณธรรมและมิติทางจิตวิญญาณที่เกิดจากการจาริกแสวงบุญ อันได้แก่ ศรัทธาในศาสนา ความอ่อนน้อมถ่อมตน การดำรงอยู่อย่างปรองดองกับธรรมชาติ และคุณค่าของจิตใจ



วัตถุประสงค์
1. เพื่อฟื้นฟูจิตใจของผู้คนให้ได้แรงบันดาลใจจากการจาริกแสวงบุญ
2. เพืื่อนำมิติทางจิตวิญญาณของการเดินทางกลับมาสู่กระแสสำนึกของสังคม
เพื่ออนุรักษ์วิถีจาริกแสวงบุญในหลากหลายประเพณีและทำให้วิถีเหล่านี้ยังมีความหมายอยู่ในโลกปัจจุบัน
3. เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างศาสนาต่างๆอันจะนำไปสู่สันติภาพและความปรองดอง

จำนวนผู้ร่วมประชุม
วิทยากร นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จำนวนประมาณ 120 คน

รูปแบบการประชุม
บรรยาย 45 นาที พร้อมฉายสไลด์หรือภาพยนตร์แสดงเรื่องราวของสถานศักดิ์สิทธิ์ และเสวนากับผู้เข้าร่วมประชุม 15 นาที

อาหาร
ทางการประชุมจะมีอาหารว่างและเครื่องดื่มร้อน/เย็นบริการ ส่วนอาหารกลางวัน ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถรับประทานได้ที่โรงอาหาร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ติดกับห้องประชุม

การลงทะเบียน
การประชุมนี้ไม่เก็บค่าลงทะเบียน แต่ขอให้ผู้สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าที่
Email: 1000tara@gmail.com โทร. 0806100770 โทรสาร 025285308 ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. สังคมได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจอันจะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกันและการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง
2. ได้รับความรู้และเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับการจาริกแสวงบุญจากมุมมองของหลายศาสนา



กำหนดการประชุมและเสวนาเรื่อง “การจาริกแสวงบุญ กับ การเดินทางของจิตใจ”
วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม 2553
8.45-9.15 น. ลงทะเบียน
9.30-9.45 น. พิธีเปิดโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
9.45-10.00 น. การเดินทางของพระศานติตารามหาสถูป ปีที่ 4
10.00-11.00 น. “ตามรอยพระพุทธศาสนาในอินเดียและปากีสถาน”
พระอาจารย์ ดร. อนิล ศากยะ (ผู้ช่วยเลขานุการในสมเด็จ
พระสังฆราชสกลมหาปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร และ
มหามกุฏราชวิทยาลัย)
11.00-12.00 น. “จาริกแสวงบุญจากมุมมองของคริสต์ศาสนา”
ผศ. ดร. วรยุทธ ศรีวรกุล (คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ)
12.00-13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-14.00 น. “การพาฆราวาสเดินธุดงค์”
พระถนอมสิงห์ สุโกสโล (วัดญาณเวศกวัน นครปฐม ประธานมูลนิธิหยดธรรม)
14.00-15.00 น. “วิถีแห่งศรัทธากับการยาตราในศาสนาฮินดู”
อ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
15.00-15.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง
15.30-16.30 น. “เมกกะ : การประกอบพิธีฮัจย์ของชาวมุสลิม”
ผศ. ดร. ปราณี ฬาพานิช (ผู้เดินทางไปเมกกะและผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณกรรม
สันสกฤต)
16.30-17.30 น. “จากกรุงเทพสู่ไกรลาศ : การเดินทางเพื่อเปลี่ยนจิตใจในทิเบต”
รศ.ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านทิเบต
และประธานมูลนิธิพันดารา)