Sunday, October 21, 2012

พุทธธรรมกับการเปลี่ยนแปลงภายใน


งานประชุม/เสวนาเพื่อฉลองปีพุทธชยันตี
“พุทธธรรมกับการเปลี่ยนแปลงภายใน”
วันเสาร์ 27 ตุลาคม 2555 เวลา 09.00-17.30น.
ห้อง105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดโดย มูลนิธิพันดารา ร่วมกับ ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการและเหตุผล
มูลนิธิพันดารา องค์กรส่งเสริมภูมิปัญญาทิเบต/หิมาลัยและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนิกายต่างๆในพระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ โดยความร่วมมือกับศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมประชุม เสวนาและบรรยายธรรมมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติธรรม กับประชาชนผู้สนใจทั่วไปและเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของความรักความกรุณาและมิติทางจิตวิญญาณในชีวิตสมัยใหม่
เนื่องจากในปีพุทธศักราช 2555 เป็นปีมหามงคลเพราะครบรอบการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าสมณโคดม 2,600 ปี คณะผู้จัดจึงเห็นความสำคัญของการจัดเสวนาเรื่อง “พุทธธรรมกับการเปลี่ยนแปลงภายใน” เพื่อมอบความรู้ให้เป็นวิทยาทานแก่สังคม เพื่อให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่พุทธธรรมนำมาให้กับชีวิต ตลอดจนการประสานธรรมะกับการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ ในเสวนานี้จะมีการสนทนาเกี่ยวกับภูเขาไกรลาศ ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานจาริกแสวงบุญของศาสนาฮินดู ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ (ทั้งนิกายพุทธทั่วไปและนิกายพุทธเพิน) แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความปรองดอง คณะผู้จัดจึงเห็นสมควรให้มีการสนทนาเกี่ยวกับข้อคิดทางธรรมที่ได้จากการเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่ภูเขาลูกนี้ โดยประเด็นหลักของการสนทนาจะเน้นการเดินทางภายในและการเปลี่ยนแปลงจิตใจอันมีผลต่อการดำเนินชีวิตหลังการจาริก
อาหาร
ทางการประชุมจะมีอาหารว่างและเครื่องดื่มบริการ ส่วนอาหารกลางวันผู้เข้าร่วมประชุมสามารถรับประทานได้ที่โรงอาหารคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ติดกับห้องประชุม
การลงทะเบียน
การประชุมนี้ไม่เก็บค่าลงทะเบียน แต่ขอให้ผู้สนใจลงทะเบียนล่วงหน้าที่
Email:1000tara@gmail.comโทร. 0878299387, 0833008119 โทรสาร025114112
กำหนดการเสวนา
วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2555
8.45 น. ลงทะเบียนและรับเอกสาร
9.15 น. เปิดงาน
อาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ (อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและผู้อำนวยการ ศูนย์
จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
9.30 น. “ปรัชญาปารมิตา”
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ (อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จาริกแสวงบุญ
ด้วยการเดินสู่อิสรภาพ)
10.30 น. ซักถาม/พักรับประทานเครื่องดื่ม
10.50 น. รายงาน “ความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการพระศานติตารามหาสถูป”
11.00 น. “พุทธธรรมกับการเปลี่ยนแปลงภายใน”
คุณรสนา โตสิตระกูล (สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร)
12.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 น. ธรรมะจากทิเบตกับมุมมองของชีวิต
อาจารย์กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ (อาจารย์ด้านทิเบตศึกษา ผู้จาริกแสวงบุญ)
14.00 น. แนะนำวัฒนธรรมชาทิเบตและชวนชิมชา
อาจารย์มิว เยินเต็น/ Mr. Meu Yonten Tongdrol (อาจารย์ด้านวัฒนธรรมทิเบต)
รับประทานอาหารว่าง
15.00 น. เสวนาเรื่อง “ไกรลาศ : ธรรมะจากการจาริก”
อาจารย์สิริเกียรติ บุญวรเศรษฐ์ (อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ค้นหาปรมัตถ
สัจจะจากทั้งภายนอกและภายใน), คุณวราวุธ ศรีโสภาค (นักเดินทาง
-ถ่ายภาพ), อาจารย์กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ ดำเนินรายการโดยคุณกุณฑ์ สุจริต
กุล (นักศึกษามหาวิทยาลัยนาโรปะ ผู้แสวงหาภูมิปัญญาทิเบต/หิมาลัย)
17.30 น. จบกิจกรรม
ประวัติวิทยากร
รศ. ดร. ประมวล เพ็งจันทร์
อาจารย์ประมวล เกิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษาตรี-เอกด้านปรัชญา จากประเทศอินเดีย เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2532-2548) เป็นนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อาจารย์ประมวลเดินเท้า 66 วันเพื่อแสวงหาสัจธรรมและประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย และได้ถ่ายทอดประสบการณ์นั้นเป็นหนังสืองดงามชื่อว่า “เดินสู่อิสรภาพ”
คุณรสนา โตสิตระกูล
คุณรสนาเคยเป็นนักพัฒนาองค์กรที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการทุจริตยา การสกัดกั้นการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย งานพัฒนาสมุนไพรและสาธารณสุของค์รวม ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร คุณรสนายังเป็นนักคิดคนสำคัญของประเทศไทย มีผลงานแปลและเขียนหลายเล่ม อาทิ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” โดยมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ “เดิน : วิถีแห่งสติ” โดย ติช นัท ฮันท์ “จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ” โดยฟริตจ๊อป คราปร้า เป็นต้น
รศ. ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
อาจารย์กฤษดาวรรณ เคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 14 ปี ลาออกใน ปี พ.ศ. 2550 เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับมูลนิธิพันดาราและเพื่อการปฏิบัติธรรม ได้เดินทางจาริกแสวงบุญด้วยการกราบอัษฎางคประดิษฐ์ในทิเบตสองครั้งรวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร งานสำคัญของชีวิตคือการสร้างพระสถูปแบบทิเบตและจัดอบรมภาวนาเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้คน ณ ศูนย์ขทิรวัน หัวหินอันเป็นบ้านเกิด อ.กฤษดาวรรณมีงานเขียนหลายเล่ม อาทิ “ทิเบต : ขอบฟ้าที่สูญหายไป” “แสงจันทร์เหนือยอดสนกับความทรงจำอันงดงาม” “แทบธุลีดิน 18 วัน 80 กิโลเมตรกับการจาริกบนหลังคาโลก” และงานแปลเรื่อง “ประตูสู่พุทธเพิน : แสงธรรมจากทิเบต” โดยลาตรี ญีมา ทรักปา ริมโปเช
อาจารย์มิว เยินเต็น (Aj. Meu Yonten)
อาจารย์เยินเต็น เคยบวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลาถึง 27 ปีที่วัดตกเต็น เมืองงาวา แคว้นอัมโด ทิเบตตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ในขณะที่บวชเรียน ได้ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารชื่อ “แสงธรรมจากภูเขาหิมะ” ต่อมาได้มีโอกาสไปเรียนภาษาจีนและภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยชนชาติกลุ่มน้อย นครเฉิงตู ตัดสินใจลาสิกขาเพื่อให้สามารถทำงานเพื่อสังคมได้มากขึ้น อาจารย์ เยินเต็น ทำงานกับมูลนิธิพันดารามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันโดยทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาและศิลปวัฒนธรรมทิเบต และผู้จัดการโครงการ ศูนย์ขทิรวัน
อาจารย์สิริเกียรติ์ บุญวรเศรษฐ์
อาจารย์สิริเกียรติ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมาศึกษารากฐานของศาสนาสำคัญหลายศาสนา รวมถึงการไปเยือนสถานที่สำคัญของศาสนาหลักของโลก ทั้ง กรุงเยรูซาเลม กรุงโรม กรุงปักกิ่งและอินเดีย/เนปาล รวมถึงใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาพุทธนิกายมหายาน แบบทิเบต ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมจากสมเด็จองค์ดาไลลามะและท่านรินโปเชสำคัญของทิเบต ล่าสุด อ สิริเกียรติ์ เยือนภูเขาไกรลาศเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา
คุณวราวุธ ศรีโสภาค
นักเดินทาง-ถ่ายภาพ (มือสมัครเล่น) จบการศึกษาด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยทำงานเป็นนักเขียนบทและโปรดิวเซอร์รายการสารคดีโทรทัศน์ด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และครีเอทีฟงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ รักการเดินทางไปในโลกกว้างเพื่อเปิดโลกทัศน์ สะสมประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายให้คุ้มค่ากับที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้ และถ่ายทอดเรื่องราวสิ่งที่พบเห็นลงในภาพถ่าย เชื่อว่าการเดินทางท่องเที่ยวช่วยสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อกันระหว่างผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ของโลก
คุณกุณฑ์ สุจริตกุล
นักศึกษาด้าน Contemplative Education มหาวิทยาลัยนาโรปะ ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยงานพุทธเพื่อคนรุ่นใหม่ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ พร้อมกับเป็นไกค์มือสมัครเล่นพาผู้คนไปเรียนรู้ภูฐาน เพราะหลงรักดินแดนพุทธหิมาลัย