Tuesday, February 20, 2007

วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์



หนังสือ "วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์" แปลจาก โพธิจรรยาวตาร ของท่านศานติเทวะ มีวางจำหน่วยแล้วที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราคาเล่มละ 119 บาท

ติดต่อสั่งซื่อ

จากปกหลัง

วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์ เป็นบทประพันธ์อันมีชื่อเสียงของท่านศานติเทวะ ผู้เป็นพระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่แปด เนื้อหาประกอบด้วยข้อเสนอแนะในการปฏิบัติธรรมของพระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งตั้งปณิธานจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้อย่างเต็มที่ ในพระพุทธศาสนาแบบทิเบตทั้งหมดนั้น ไม่มีงานชิ้นใดเลยที่จะมีอิทธิพลหรือได้รับการยกย่องมากเท่ากับชิ้นนี้ และก็เป็นหนังสือหลักในการศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุในมหาวิทยาลัยสงฆ์ของทิเบตทุกแห่ง
ท่านศานติเทวะได้เสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์อย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการกล่าวถึงอานิสงส์ของโพธิจิต อันเป็นจิตที่มุ่งมั่นต่อการตรัสรู้เพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็เสนอการปฏิบัติบารมีหกประการอันเป็นวิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา
การแปลครั้งนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของอลันกับเวสนา วอลเลซ ซึ่งแปลจากฉบับภาษาสันสกฤตประกอบกับฉบับแปลภาษาทิเบตควบคู่กัน และเป็นอีกลำดับหนึ่งของหนังสือชุด "คำสอนจากมหาวิทยาลัยนาลันทา" ของมูลนิธิพันดารา


"เหล่าผู้ที่ไม่มีความสุขในโลกนี้ เป็นเช่นนั้นเนื่องจากความปรารถนาจะได้ความสุขใส่ตัวของเขาเอง เหล่าผู้ที่มีความสุขในโลกนี้ เป็นเช่นนั้นเนื่องจากความปรารถนาจะยังความสุขให้แก่ผู้อื่น"

ท่านศานติเทวะ

Saturday, February 10, 2007

แสงจันทร์เหนือยอดสน




แสงจันทร์เหนือยอดสน กับความทรงจำอันงดงาม

กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
สำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา, 2549
157 หน้า, ราคา 269 บาท

ติดต่อสั่งซื้อ

ในไออุ่นของดวงดาว (แห่งความหวัง)

หลังจากที่ได้รับ “แสงจันทร์เหนือยอดสน กับความทรงจำอันงดงาม” สดๆ ใหม่ๆ เพิ่งออกมาจากโรงพิมพ์ ก็ได้อ่านจบแรกบนรถเมล์ระหว่างเดินทางกลับบ้าน
นับเป็นการเดินทางกลับ “บ้าน” ทั้งภายนอกและภายใน
คลื่นวิทยุบนรถเมล์สายนั้นเปิดเพลงๆ หนึ่งซึ่งเคยโด่งดังมากเมื่อปีสองปีก่อน

“... เเต่พอมองดูคนที่เขามีใคร เเม้ว่าผู้คนจะรายล้อมอยู่ยังเผลอเหงาในใจ
เมื่อไหร่จะมีใครใครสักคนที่เป็นของเรา เมื่อไหร่จะมีใคร ใครสักคนนะที่รักเรา
เท่านี้..ที่ต้องการ ขอเกินไปตรงไหน เมื่อไหร่จะมีใคร ใครสักคนที่เคียงข้างเรา
เเค่อยากจะมี คนที่ทำให้ใจไม่ต้องเหงา.. ไม่รู้..ต้องเมื่อไหร่ เหมือนมันยังห่างไกล..”
(เพลงแอบเหงา)


เนื้อเพลงทั้งเพลงคร่ำครวญถึงความรู้สึกเหงา พูดถึงดวงใจเสาะแสวงหาของคนๆ หนึ่งซึ่งไขว่คว้าคนที่รักและรู้ใจสักคนหนึ่งมาอยู่ข้างกาย ทำลายความเหงาให้หมดไป
ความเหงาที่ถ่ายทอดออกมาจากบทเพลงๆ นี้ทำให้ต้องละสายตาจากบทกวีที่งดงามและเรียบง่ายในหนังสือ เพราะสิ่งที่กำลังซาบซึ้งดื่มด่ำนั้น ช่างแตกต่างเสียเหลือเกินกับความเหงาที่เขารำพัน

บนรถเมล์คันนั้น อาจมีใครหลายๆ คนที่กำลังเหงา แม้นั่งหรือยืนเบียดเสียดอยู่ท่ามกลางคนมากมาย
น่าแปลก ในขณะที่เรามีโทรศัพท์มือถือให้โทร. ฟรีหากันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง มีเกมมือถือให้เล่นฆ่าเวลา มีอินเทอร์เน็ตให้พูดคุยกันข้ามทวีป มีโทรทัศน์เปิดค้างอยู่เป็นเพื่อน...
แต่น้อยคนนักจะเป็นอิสระจากความเหงา
ความเหงากำลังเป็น “โรค” ที่ทำให้คนในโลกสมัยใหม่ ทุกเพศทุกวัยต้องทนทุกข์ทรมาน

หายใจออก...

มอบความสุขและสิ่งดีๆ จากตัวคุณให้ผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่ครบถ้วน
คุณงามความดี ปัญญา บารมีต่างๆ
ดุจดังสวมอาภรณ์อันวิเศษให้แก่เขา


หายใจเข้า...

เอาความเจ็บปวดของผู้อื่นเข้าไปในตัวคุณ
โรคภัยไข้เจ็บ ความเศร้าหมอง
ความยากจน ความทุกข์ทนต่างๆ
ดุจดังมอบโอสถอันวิเศษให้แก่เขา

ทำเช่นนี้กับคนหนึ่งคน
แล้วเพิ่มเป็นสอง
แล้วเป็นสามไปเรื่อยๆ
จนรวมสัตว์โลกทั้งหลาย
(หน้า 58-59)


หลายๆ คนอาจจะคิดว่า วิถีพุทธธรรมวัชรยานเป็นเรื่องลี้ลับ มีอะไรมากมายเกินที่จะจดจำ ยากที่จะเข้าใจ ยากที่จะเข้าถึง
แต่แท้ที่จริง วัชรยานเป็นวิถีธรรมที่แสนเรียบง่าย ไม่มีสิ่งใดอื่นนอกจากความกรุณาและการคิดถึงผู้อื่นก่อนตนเสมอ ความกรุณานี้เองที่พาเราให้เป็นอิสระจากความทุกข์ และเข้าใจความจริงของ “ธรรมชาติ”

ครั้งหนึ่งฉันเห็นจิ้งจกถูกประตูหนีบ
หางหลุดขาลีบตัวห้อเลือด
ลำคอสั่นระริกหายใจระทวย
ตาฉันปริ่มใจสลดเหลือคณา

ด้วยจิ้งจกนั้นก็คือพ่อหรือแม่
มันเจ็บปวดก็เหมือนเห็นแม่เจ็บปวด
มันรักชีวิตมิยิ่งหย่อนกว่าเรารักชีวิต
มันกลัวเจ็บกลัวตายเช่นเรากลัว
(หน้า 47)


เมื่อเราคิดถึงผู้อื่นก่อนอยู่เสมอ หวั่นไหวแม้ความทุกข์และความตายของสัตว์เล็กๆ ฝึกฝนตนเองให้เป็น “ผู้ให้” อยู่เสมอในทุกลมหายใจ ใจดวงนั้นย่อมยิ่งใหญ่
แล้ว “ความเหงา” ก็กลายเป็นเพียงละอองฝุ่นธุลีเล็กๆ ที่ไร้ความหมาย
หลายๆ คนอาจจะคิดว่า ความเหงาที่ต้องเผชิญในชีวิตนี้ช่างหนักหนาสาหัสเหลือเกิน บางคนทนต่อความเหงาไม่ไหว ไม่รู้จะทำอย่างไร จนกระทั่งคิดทำลายชีวิตตนเอง เพราะหวังว่าความตายจะเป็นที่สุดของความทุกข์ เป็นจุดจบของความเหงา
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า หลังจากที่เราตาย หมดลมหายใจไปแล้ว จะมีช่วงเวลาอีก 49 วันใน “บาร์โด” ที่เราจะต้องทนทุกข์อยู่ในความเหงาที่ยิ่งกว่าความเหงาใดๆ

ตายคือทุกข์ยิ่งทุกข์
หวาดกลัว หวาดหวั่น
...
อนิจจา...
เวทนาที่ขาดสังขาร
เร่ร่อนไร้จุดหมาย

ดังขนนกที่ปลิดปลิว
ตามแรงลมแห่งกรรม
...
เดินทางเดียวดาย
หิวโหย หนาวเหน็บ
(หน้า 94-95)


น่าเศร้าที่ยิ่งวิทยาการก้าวหน้า คนก็ยิ่งคิดถึงแต่ตัวเองมากขึ้น คิดถึงคนอื่นน้อยลงทุกทีๆ ต่างคนต่างสร้างเกราะขึ้นมารอบๆ ตัว สร้างโลกส่วนตัวและปิดตัวเองจากทุกสิ่งรอบข้าง เขาเห็นเพียงแต่สิ่งที่เขาต้องการเห็น ได้ยินเฉพาะสิ่งที่ตัวเองฟัง หัวใจอันเปราะบางบอบช้ำด้วยความเหงาที่กัดกร่อนอยู่ทุกเวลานาทีโดยไม่รู้ตัว
จึงยากเหลือเกินที่จะหวังว่า แต่ละคนจะพยายามเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
น่าเสียดาย คนที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธกลับไม่เชื่อว่า เราต่างก็เวียนว่ายตายเกิดมาแล้วหลายชาติ สะเทินสุขสะเทินทุกข์มานับไม่ถ้วน ยังคงเบียดเบียนตัวเอง และเบียดเบียนกันและกันด้วยความโลภ โกรธ หลงอย่างบ้าคลั่ง

อีกหนึ่งนั้นเสียงร่ำไห้
เวทนาผู้ผูกพัน
รัก โลภ โกรธ หลงกัน
ด้วยยึดมั่นเพียงชาติเดียว
(หน้า 31)


ในสงครามอิรัก ชาวอิรักผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิง คนแก่ นับหมื่นนับแสนถูกฆ่าตายทุกวัน ทหารสหรัฐฯ ก็ตายไปนับพันตั้งแต่เริ่มสงคราม ครู เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกฆ่าตายไม่เว้นแต่ละวัน
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เขาเหล่านั้นต้องตาย และอาจกำลังทนทุกข์อยู่ในบาร์โดอันมืดมิด กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต ไม่รู้ว่าภพใหม่ของเขาจะเป็นไปอย่างไร ไม่ต่างจากขนนกที่ลอยคว้างอยู่ในกระแสพายุแห่งกรรม
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เขาเหล่านั้นถูกฆ่าตายเพียงเพราะความกลัวของคนที่ฆ่า
และเป็นเรื่องน่าเศร้ากว่านั้น หากเราเพิกเฉยต่อความตายของพวกเขา

“โอม มณี เปเม ฮุง”

สวดไป สวดไป
ให้ได้เกิดใหม่
ให้ได้ยินพระธรรม
(หน้า 96)


โลกนี้คงน่าอยู่มากขึ้น หากเรามีความเข้าใจอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ชีวิตมิได้มีเพียงชาตินี้ชาติเดียว และชีวิตมิใช่เพียงร่างกาย องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญไปกว่าคือ จิต และจิตนี้เองเป็นตัวกำหนดสุขทุกข์
หากเรารู้แจ้งว่า สภาวะเดิมแท้ของจิตนั้น กระจ่าง ผ่องใส เป็นประภัสสร เป็นสุขเที่ยงแท้ เราคงไม่หลงวนว่ายอยู่ในมายา และเล่ห์กลกลับกลอก
และคงได้พบกับอิสรภาพ

ไม่ขังใจ
ปล่อยใจแต่ดูใจ
ทำใจให้ว่าง ใสชัด
ไม่ตามใจไป
ความคิดดีปล่อยไป
ความคิดไม่ดีปล่อยไป
ใจไม่สับสน มืดมน
(หน้า 29)


น่าทึ่งว่า วิถีพุทธธรรมวัชรยานนั้น ถ่ายทอดและสืบสานมาจนถึงพวกเราในโลกยุคไร้พรมแดน ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่ของชาวทิเบต “อวิชชา” อาจย่ำยีบีฑาชาวทิเบตจนแทบจะย่อยยับในกาลก่อน และแม้ในปัจจุบัน วิถีชีวิตและพุทธศาสนาก็กำลังถูกท้าทายอยู่อย่างหนักหน่วง

ทิเบตใหม่
มาพร้อมกับสมบัติใหม่
ที่โลกในอดีต
ไม่เคยมี

เคยขี่ม้าลาจามรี
แต่วันนี้
ขี่มอเตอร์ไซค์
แสนสุขใจ
(หน้า 80-81)


ภาพๆ หนึ่งแทนคำพูดนับล้าน
อย่างน้อย ภาพความศรัทธาของชาวทิเบตในหนังสือก็ทำให้รู้ว่า “อวิชชา” ยังมิอาจหยุดยั้งความศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ของชาวทิเบต ทุกๆ วันยังมีคนกราบอัษฎางคประดิษฐ์ตั้งแต่บ้านเกิดจนถึงหน้าวัดโจคัง ที่ประดิษฐานพระโจโวริมโปเชในนครลาซา กงล้อมนตร์ยังคงหมุนไม่เคยหยุด ธงมนตร์ยังคงสะบัดพลิ้วตามสายลม เสียงแห่งมนตร์มณียังดังประสานไม่เคยขาดสาย

ขอนำพาบิดาทางขวา
ขอนำพามารดาทางซ้าย
เพื่อนพ้องพี่น้องด้านหลัง
ศัตรูผู้ชิงชังด้านหน้า
แวดล้อมด้วยสัตว์โลกทั่วนภากาศ

พนมกรพร้อมตั้งจิต
ต่อเบื้องพระพักตร์คุรุพุทธเจ้า
ด้วยโพธิจิตที่แผ่ซ่านไปทั้งสรรพางค์กาย
จะขอยึดพระมณฑลอันอุดมด้วยความกรุณา
ไปจนกว่าจะถึงการตรัสรู้
(หน้า 107)


พระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง
คงเป็นเรื่องน่าขัน และเป็นความทุกข์ใหญ่หลวง หากเราจะฝืนฉุดรั้งให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่อย่างเดิม หรือเป็นไปอย่างใจเราทั้งหมด
ความเหงา ความโลภ ความโกรธ ความหลง การประหัตประหารเข่นฆ่า การทำลายแม้แต่ชีวิตของตัวเอง เป็นวิถีของโลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกระแสแห่งกรรม และเหตุปัจจัยอันเป็นธรรมชาติ
แต่ในความมืดก็มีความสว่าง
เมื่อมี “โลก” ก็ต้องมี “เหนือโลก”
ความกรุณาอันไพศาลไร้ขอบเขต ปัญญารู้แจ้ง จิตกระจ่างประภัสสร ร่างรุ้ง เป็นวิถีธรรมที่เกิดขึ้นจริงบนโลกนี้
สิ่ง “เหนือโลก” เหล่านี้ ไม่ใช่ “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” แต่เป็น “ธรรมชาติ” ที่ชาวพุทธผู้มีศรัทธามิอาจมองข้ามหรือละเลย
เป็น “หน้าที่” ที่จะต้องเร่งทำให้เกิดขึ้นจริง
...
ตามตำนานเทพนิยายกรีก เมื่อแพนโดราเปิดหีบต้องห้ามด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความชั่วร้ายต่างๆ ก็โบยบินออกมา และเข้าครอบงำจิตใจมนุษย์
สิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่คือ ความหวัง
ในความมืดมิด แม้แสงจันทร์แรมก็มีค่า แสงดาวก็มีความหมาย
ในความหนาวเหน็บ กองไฟเล็กๆ ก็มีคุณลึกล้ำ
ขอให้ “แสงจันทร์เหนือยอดสน กับความทรงจำอันงดงาม” เล่มเล็กๆ นี้เป็นประหนึ่งสายลมที่ทำให้เปลวไฟแห่งความหวังคุขึ้นและโชนแสงในใจของผู้อ่านทุกคน

ความดีย่อมไม่ดับสูญ มีแต่เพิ่มพูนทวี

จัมปา ญีมา
๑ ธันวาคม ๒๕๔๙

จดหมายจากมูลนิธิ

สวัสดีค่ะ เพื่อนสมาชิกมูลนิธิพันดาราและผู้ร่วมทำบุญกับมูลนิธิ

ในวาระที่วันปีใหม่ทิเบตกำลังจะมาเยือน ปีนี้ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หนึ่งวันหลังจากวันตรุษจีน ดิฉันเลยถือโอกาสนี้มาอวยพรปีใหม่ ขอให้ทุกๆคนมีแต่ความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในการงาน การดำรงชีวิต และการปฏิบัติธรรม โลซา ต้าชี่เตเล พุนซุมสก!

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสเดินทางไปทิเบตเพื่อไปปล่อยชีวิตจามรี และไปถวายปัจจัยแด่พระภิกษุทิเบตที่กำลังจำศีล 3 ปี 3 เดือนที่วิทยาลัยซกเช็น วัดตกเต็น (Dokden Monastery) ได้ถือโอกาสนี้เป็นการทำบุญปีใหม่ของมูลนิธิ
ดิฉันยังมีโอกาสเดินทางไปเยือนวัดยุงตรุง ลาเต็ง (Yungdrung Lhateng Monastery) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเขตจารง เขตนี้เคยเป็นแคว้นสำคัญบริเวณพรมแดนจีน-ทิเบต ชาวจารงมองว่าตัวเองเป็นชาวทิเบต แต่พวกเขาพูดภาษาต่างออกไป นอกจากนี้ ดิฉันยังได้สัมภาษณ์ผู้เฒ่าชาวทิเบต ทั้งที่เป็นพระภิกษุ และชาวบ้านธรรมดา เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการมองโลกของผู้สูงวัย



แม้เวลา 9 วันที่เดินทางไปคราวนี้จะเป็นเวลาสั้นๆและเป็นช่วงที่หนาวเย็นที่สุดของทิเบต แต่ก็เป็นวันเวลาที่นำมาซึ่งความสุขใจ เมื่อกลับมาเมืองไทย บ่อยครั้งที่ดิฉันนึกถึงภาพจามรีตัวเมีย 2 ตัว (ภาษาทิเบตเรียกจามรีตัวเมียว่า "ตรี") ยืนกินฟางอย่างมีความสุขในบ้านใหม่หลังจากที่เราได้ไถ่ชีวิตมัน

ดิฉันตั้งชื่อตัวหนึ่งว่า "เตรอมา" อีกตัวตั้งชื่อว่า "ปัลเด็น ลาโม"
ตัวที่ชื่อว่าเตรอมาดิฉันได้ตั้งจิตอธิษฐานให้มันอยู่ในความคุ้มครองของพระแม่ตารา มันกำลังตั้งท้อง เราจึงได้ปล่อยทีเดียว 2 ชีวิต ส่วนปัลเด็น ลาโม (ตัวที่มีแต้มสีขาวที่ใบหน้า) ก็ขอให้มันอยู่ในความคุ้มครองของพระศรีเทวีหรือปัลเด็น ลาโม พระโพธิสัตว์คุ้มครองประจำทิเบตและองค์ดาไลลามะ พระองค์ทรงเป็นปางพิโรธของพระแม่ตารา



ในรูปเราจะเห็นผ้าหลากสีที่ห้อยอยู่บริเวณหูและลำตัวของจามรี ผ้าเหล่านี้เราเขียนคาถาหัวใจของพระโพธิสัตว์ไว้ เย็บกับขนของมัน เราทาเนยไว้ที่จมูกและเท้าของมัน สัญลักษณ์ว่ามันได้ชีวิตใหม่ ครอบครัวใหม่ของเตรอมาและปัลเด็นเป็นครอบครัวของน้องสาวของเยินเต็น ผู้ช่วยของมูลนิธิ พวกเขาดีใจที่ได้สมาชิกใหม่ที่จะนำนมเนยมาให้แก่ครอบครัว



ขอบคุณคุณอารีรัตน์ เจ้าหน้าที่และศิษย์ภาษาศาสตร์ ได้แก่ คุณวลัยพร บี ต่าย ปนันดา และแชมเปญ รวมทั้งคุณมะลิแห่งสถานกงสุลไทยที่เฉิงตูที่ร่วมไถ่ชีวิตจามรีในครั้งนี้ เจ้าของเดิมของจามรีเป็นชนเผ่าเร่ร่อน เขาร่วมอนุโมทนากับพวกเราด้วย โดยคิดราคาพิเศษตัวละ 1,200 หยวน ในวันที่ไถ่ชีวิต ชาวบ้านในหมู่บ้านมาร่วมงานหลายคน เสียดายว่าเราไม่สามารถจะไถ่ชีวิตของจามรีทุกตัวที่เจ้าของพาลงมาจากภูเขา


ที่วัดยุงตรุง ลาเต็ง ดิฉันสัมภาษณ์ลามะเปมา รินเช็น เจ้าอาวาส ผู้ปฏิบัติ "เจอด" (Chod) หรือ การอุทิศร่างกายให้เป็นทาน (body offering) ท่านอายุประมาณ 40 ปี ท่านผ่านการอยู่จำศีล 3 ปี 3 เดือนที่วิทยาลัยซกเช็น วัดตกเต็นและจำศีล 18 เดือนสำหรับปฏิบัติเจอดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ท่านยังเคยธุดงค์ไปตามสุสาน ลำธาร ภูเขา ป่ารก สถานที่ละ 100 แห่ง เพื่อสวดเจอดอันเป็นการตั้งจิตอุทิศร่างกายของผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อถวายเป็นเครื่องบูชาแด่เทพและให้เป็นอาหารแก่วิญญาณและเปรตรวมทั้งผู้ที่คนไทยเรียกว่า "เจ้ากรรมนายเวร" การปฏิบัตินี้จริงๆแล้วคือการฝึกจิตให้เกิดความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ให้ไม่ยึดติดกับร่างกายหรือกิเลสทั้งหลาย ให้เข้าใจสภาวะดั้งเดิมแห่งธรรมชาติอันเป็นศูนยตา ให้มีจิตไม่แบ่งแยก เป็นคำสอนซกเช็นที่สำคัญ

ขากลับเมืองไทย ดิฉันพาท่านฑากินีปัลเด็น เชอโซมาด้วย
มูลนิธิได้นิมนต์ท่านมาบรรยายเรื่องมรณสติแบบทิเบต และการฝึกสมาธิถึงพระอมิตาภพุทธเจ้า ในวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 และทำพิธีมนตราภิเษกพระแม่ตาราขาวเพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อขอให้ประทานอายุยืนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์อันเป็นวันที่ 10 ตามปฏิทินทิเบต เป็นวันพระคุรุปัทมสมภพวันสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเกี่ยวกับพระอมิตาภพุทธเจ้า ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากนักวิชาการพุทธหลายท่านที่มาเป็นวิทยากร อาทิ อาจารย์เศรษฐพงศ์ จงสงวน รศ. ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผศ. ดร. ประทุม อังกูรโรหิต ผศ. ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ และรศ. ดร. สมภาร พรมทา สาระจากการประชุมจะได้ตีพิมพ์ในสารพันดารา



ขอบคุณผู้ช่วยงานพระอมิตาภะทุกๆคน โดยเฉพาะคุณอารีรัตน์ ป้อม จวง จัมปา ญีมา การ์มา เชรับ ธนุวัฒน์ และวัชรดารา คุณจิ๊ก (Jick Ryan) ได้มอบไดอารี่ที่มีชื่อว่า "A Journey to a Remarkable Pure Land" จำนวนหนึ่งให้แก่มูลนิธิเพื่อให้มูลนิธินำไปขายเพื่อหารายได้มาดำเนินงานกิจการของมูลนิธิ

ไดอารี่เล่มนี้ประกอบด้วยภาพสวยงามจากทิเบตที่คุณจิ๊กเป็นคนถ่ายเองและเป็นคนเล่าเรื่อง คุณเต็ง (Vancelee Teng) เพื่อนชาวมาเลเซียของคุณจิ๊กก็ได้มอบหนังสือบันทึกความประทับใจ จากการเดินทางและสมุดไดอารี่ให้แก่มูลนิธิเพื่อช่วยหารายได้ให้มูลนิธิเช่นกัน ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณคุณจิ๊กกับคุณเต็งมากค่ะ ขอเชิญชวนให้พวกเราช่วยกันซื้อสมุดบันทึกที่ทำด้วยใจทั้งสองชุดนี้ นอกจากจะได้สนับสนุนงานของมูลนิธิแล้ว ก็จะเป็นกำลังใจให้แก่ผู้จัดทำที่เป็นนักเดินทางชาวเอเซียทั้งสองท่านนี้อีกด้วย

ในเดือนมีนาคมนี้มูลนิธิจะจัดงานอีก วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม จะมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการแพทย์ทิเบตและการมีสุขภาพดีที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีหมอทิเบต 2 ท่านที่มีชื่อเสียงทั้งในทิเบต อินเดียและสหรัฐอเมริกามาบรรยาย

ท่านหนึ่งชื่อ ดร. ล็อบซัง รับเก (Dr. Lobsang Rabgay) เคยเป็นแพทย์ที่ธรรมศาลาและทำงานกับองค์ดา-ไลลามะ ท่านจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ขณะนี้ทำงานที่ห้องปฏิบัติการจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มลรัฐลอส แองเจลิส คุณหมอล็อบซังเป็นผู้แต่งหนังสือเกี่ยวกับการบำบัดรักษาแบบทิเบตและการฝึกสมาธิในชีวิตประจำวัน ท่านจะมาบรรยายเรื่องการฝึกสติเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรคเครียด



ในการทำงานในสังคมปัจจุบันหลายคนประสบปัญหาความเครียด บางครั้งความเครียดเกิดมาจากปัญหาครอบครัว และทำให้ผู้เครียดป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดร. ล็อบซังได้ทดลองใช้การฝึกสติในพระพุทธศาสนา ในการบำบัดอาการและรักษาโรค ท่านจะมาเล่าให้เราฟังว่าท่านทำอย่างไร ได้ผลอย่างไร

ส่วนวิทยากรอีกท่านคือ ดร. ดิกกี้ เญรงชา (Dr. Dickey Nyerongsha) ศึกษาเล่าเรียนวิชาแพทย์จากสถาบันการแพทย์ที่ลาซา ครอบครัวของคุณหมอดิกกี้ เป็นหมอมาตลอด 7 รุ่นอายุ คุณหมอเชี่ยวชาญเรื่องการรักษาโรคและการป้องกันโรคโดยใช้โภชนาการ การบรรยายจะเน้นเรื่องการมีสุขภาพดีโดยการระมัดระวังเรื่องอาหาร ผู้ป่วยควรกินอาหารแบบใด ผู้ไม่ป่วยก็ควรจะกินอาหารแบบใดเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไปเพื่อให้เกิดการประสานกันระหว่างธาตุภายนอกกับธาตุภายใน
ค่าลงทะเบียนจากการบรรยายนี้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมอบให้คุณหมอดิกกี้ เพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษานักเรียนแพทย์ทิเบตและเด็กกำพร้าในทิเบต ทุนการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการให้ความช่วยเหลือชาวทิเบตของสถาบันเญรงชาเพื่อการแพทย์และวัฒน
ธรรม รายละเอียดของการบรรยายและงานของสถาบันนี้โปรดดูเว็บไซต์ของมูลนิธิและใบประชาสัมพันธ์ค่ะ

มูลนิธิได้สร้าง blog เพื่อบอกข่าวคราว เล่าเรื่อง เป็นสื่อสัมพันธ์ต่างๆ http://thousandstarsfoundation.blogspot.com หวังว่าจะเป็นเวทีอีกหนึ่งแห่งที่จะทำให้การประชาสัมพันธ์และการแจ้งข่าวกิจกรรมของมูลนิธิ ตลอดจนการเผยแพร่เรื่องราวของทิเบตและพระพุทธศาสนาวัชรยานกว้างขวางมากขึ้น

ในอนาคตอันใกล้มูลนิธิจะจัดกลุ่มสนทนาธรรมะประจำเดือนในวันเสาร์ เวลา 9.30-11.30 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สถานที่อาจเป็นโรงอาหารคณะฯ เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกมูลนิธิได้มาพบปะสังสรรค์กัน และแลกเปลี่ยนซักถามเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพุทธศาสนาวัชรยาน รายละเอียดจะได้แจ้งให้ทราบ งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เราอาจจะเอาขนมหรืออาหารมารับประทานร่วมกัน หัวข้อที่จะสนทนาในครั้งแรกๆจะเป็น "การปฏิบัติพื้นฐานในพระพุทธศาสนาวัชรยาน"

สารพันดาราปีที่ 2 ฉบับที่ 3 จะพยายามออกให้ทันเดือนเมษายนค่ะ ต้องขออภัยในความล่าช้าเป็นอย่างยิ่ง จะมีบทบรรยายเรื่องซกเช็นของญีมา ทักปา ริมโปเช รายงานการประชุมกายกับใจ การฝึกสมาธิและการทำพิธีมนตราภิเษกพระอว-โลกิเตศวรและการทำพิธีมนตราภิเษกพระอมิตายุส เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทิเบตและวัชรยาน เรื่องประจำที่บางเรื่องขาดตอนไป ตลอดจนความก้าวหน้าของการก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม "ภัทรกัลป์ตาราขทิรวัณ"

ด้วยความปรารถนาดี
กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์

Friday, February 2, 2007

การแพทย์ทิเบตกับการมีสุขภาพดี



มูลนิธิพันดารา
ร่วมกับศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟัง
การบรรยายและการอบรมเรื่อง

"การแพทย์ทิเบตกับการมีสุขภาพดี:
การฝึกจิตเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรคเครียด"


วิทยากร: Dr. Lobsang Rabgay (UCLA), Dr. Dickey P. Nyerongsha (Nyerongsha Institute)


วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2550 เวลา 9.30-16.00 น.
ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การบรรยายเรื่อง "Buddhist mindfulness for daily stress and anxiety management" โดย Dr. Lobsang Rabgay

แนะนำวิธีการฝึกจิตในพระพุทธศาสนาประเภทต่างๆและการนำการฝึกจิตไปใช้ในการรักษาโรคเครียดและโรคซึมเศร้ารวมทั้งในการรักษาโรคความผิดปกติทางจิต

การบรรยายเรื่อง "Introduction to the theory and practice of nutrition for good health" โดย Dr. Dickey P. Nyerongsha

แนะนำการมีสุขภาพดีตามมุมมองของทิเบต การแพทย์ทิเบตเน้นการรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งประกอบไปด้วยการดูแลอาหารและการควบคุมความประพฤติ การบรรยายนี้จะนำเสนอแนวคิดเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อการมีสุขภาพดี การวินิจฉัยเพื่อดูว่าผู้ป่วยควรรับประทานอาหารประเภทใดจึงจะเหมาะสม ประเภทของอาหารกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป การเตรียมและการประกอบอาหาร

กำหนดการการประชุม

9.00-10.30 การบรรยายเรื่อง Buddhist mindfulness for daily stress and anxiety management
10.30-11.00 พักน้ำชา/กาแฟ
11.00-12.00 การบรรยาย (ต่อ) และซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
12.00-13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-14.30 การบรรยายเรื่อง "Introduction to the theory and practice of nutrition for good health"
14.30-15.00 พักน้ำชา/กาแฟ
15.00-16.00 การบรรยาย (ต่อ) และซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ค่าลงทะเบียน: 800 บาท (บุคคลทั่วไป) 600 บาท (สมาชิกมูลนิธิพันดารา) 200 บาท (พระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร แม่ชี นักศึกษา)
การบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ และมีแปลเป็นภาษาไทย

ติดต่อ: คุณอารีรัตน์ ศิริคูณ โทร. 081-648-1195 email: areeratana@cpbequity.co.th หรือ
ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ โทร. 081-343-1568 email: hkesang@yahoo.com

รายได้จากการลงทะเบียนหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบโครงการของ Nyerongsha Institute เพื่อเป็นทุนการศึกษานักเรียนแพทย์ทิเบตและทุนการศึกษาเด็กกำพร้าในทิเบต

รายละเอียด (PDF file)

Photos at Flickr.com

Photos from activities of the Foundation can be found at

http://www.flickr.com/photos/1000stars/