Monday, July 16, 2007

ความสุขในสังคมสมัยใหม่

การประชุมวิชาการ

“ความสุขในสังคมสมัยใหม่:
จิตวิญญาณ สังคมและวิทยาศาสตร์”


"Happiness and Contemporary Society: Spirituality, Society and Science"


ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 18-19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เวลา 9.00 – 18.00 น.

จัดโดยกลุ่มสนทนาพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพันดารา
ร่วมกับศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Supported by a grant from the Local Societies Initiative, Metanexus Institute

หลักการและเหตุผล

ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่หลายคนกลับไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร สังคมสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยบริโภคนิยม มักให้ความหมายว่า ความสุขคือสิ่งที่ซื้อได้ด้วยเงิน และเป็นสิ่งเดียวกันกับความพึงพอใจทางเนื้อหนัง หรือการได้บำรุงบำเรอประสาทสัมผัสต่างๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ยิ่งเราใช้จ่ายบริโภคไปเท่าใด ก็ดูเหมือนว่าเรายิ่งห่างไกลจากความสุขไปเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อใช้จ่ายซื้อสิ่งที่ต้องการมา ก็กลับไม่พอใจกับสิ่งนั้น ก็เลยต้องแสวงหาต่อไปอีก และก็วนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่จบสิ้น ความสุขในสังคมสมัยใหม่จึงเป็นอะไรที่ผู้คนพยายามไขว่คว้า แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับ ดูเหมือนว่าการพูด การคิด การกระทำทั้งหลายในสังคมสมัยใหม่จะมีแต่เพื่อให้เกิดความสุข แต่กลับไม่พบความสุขที่แท้จริง ผู้คนก็ยังเต็มไปด้วยความทุกข์อยู่ด้วยประการต่างๆ
กล่าวโดยรวมก็คือ ความสุขเป็นยอดปรารถนาของทุกคน แต่ในท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการบริโภคเช่นที่เป็นอยู่นี้ ความสุขกลับกลายเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกล เราอาจเปรียบได้กับม้าที่วิ่งอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะอยากกินแครอทที่แขวนอยู่ข้างหน้ากับหลักที่ติดอยู่กับอานม้า ไม่ว่าม้าจะวิ่งไปมากเท่าใดหรือเร็วเท่าใด ก็ไม่ได้กินแครอทเสียที ภาพนี้สามารถอธิบายสภาพของสังคมสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี การพูดเกี่ยวกับความสุขมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครมีความสุขเลย
นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสุขก็ยังเรียกได้ว่าเป็น “สิ่งต้องห้าม” สำหรับนักวิชาการ เนื่องจากความสุขเป็นยอดปรารถนาแต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครได้ครอบครอง นักวิชาการจึงมักจะพยายามหลบเลี่ยงไม่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสุขโดยตรง เหตุผลหนึ่งก็คือมักจะมีการอ้างว่า การนิยามว่าความสุขคืออะไรเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ก็น่าประหลาดใจที่เป็นเช่นนี้ เพราะทุกคนพูดถึงความสุข อยากมีความสุข ดังนั้นการบอกว่าไม่มีใครรู้แน่ว่าความสุขคืออะไรจึงเป็นเรื่องแปลก เพราะหากไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร หรือจะนิยามความสุขว่าอย่างไร จะปรารถนาความสุขได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับนักวิชาการทั่วๆไปก็คือว่า นอกจากจะนิยามคำว่า “ความสุข” ได้ค่อนข้างลำบากแล้ว ก็ยังประสบปัญหาว่าจะวัดปริมาณของความสุขได้อย่างไร ประเทศภูฐานเป็นประเทศแรกที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้อเลียนแนวคิดเกี่ยวกับ “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” ในเศรษฐศาสตร์
ความแตกต่างกันก็คือว่า ผลผลิตมวลรวมประชาชาติเป็นจำนวนการผลิตสินค้าและบริการทั้งหมดของผู้คนในประเทศ ซึ่งถือกันว่าเป็นมาตรวัดระดับการพัฒนาของประเทศนั้นๆ ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการกระพือกระแสแนวคิดที่ว่า ผลผลิตมวลรวมประชาชาติเป็นยอดปรารถนาของประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในประเทศนั้นมี “ความสุข” หรือมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดียิ่งขึ้น แต่ปัญหานานับประการที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ก็เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการ ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการพัฒนาผลผลิตมวลรวมเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น อัตราการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ การขยายตัวของธุรกิจข้ามชาติซึ่งคุกคามวิถีชีวิตดั้งเดิม และอีกหลายประการ แม้จะโหมโฆษณาว่า การเพิ่มผลผลิตมวลรวม หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นยอดปรารถนาของสังคม ซึ่งก็มีนัยยะว่าการเพิ่มผลผลิตดังกล่าวเป็นหนทางสู่ความสุข แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือว่า ความสุขนั้นแท้จริงแล้วดูจะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มผลผลิตมวลรวม หรืออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังที่เคยคิดกัน
ดังนั้น ประเทศภูฐานจึงประกาศว่า จะให้ความสุขมวลรวมประชาชาติเป็นดัชนีในการพัฒนา แทนที่จะเป็นผลผลิตมวลรวม ซึ่งแนวคิดนี้ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบัน แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็เริ่มให้ความสนใจกับความสุขมากยิ่งขึ้น โดยมีงานวิจัยใหม่ๆเกี่ยวกับสถานะของสมองเมื่อมีความสุข หรือบทบาทของการฝึกจิตแบบพระพุทธศาสนาต่อการทำงานทางสรีรวิทยาของสมอง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นการแสดงการเชื่อมโยงกันโดยตรงของสรีรวิทยา และมิติที่ค่อนข้างจะเป็นนามธรรมเช่นเรื่องความสุขนี้
เมื่อสถานการณ์ของโลกสมัยใหม่กับความสุขเป็นเช่นนี้ จึงควรที่เราจะมาศึกษาวิจัย และทำความเข้าใจกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับบทบาทของความสุขในสังคมสมัยใหม่ ว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดความสุขขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ใช่ความสุขที่โฆษณาทางสื่อมวลชน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งในสังคมไทยสมัยใหม่ก็คือว่า ผู้คนเริ่มโหยหาคำตอบทางจิตวิญญาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการบริโภคไม่สามารถให้ความสุขได้ ผู้คนเริ่มหันมามองหาทางเลือกอื่นๆ และมิติทางจิตวิญญาณหรือศาสนานี้เองที่จะเป็นคำตอบได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ติดอยู่ในกับดักของบริโภคนิยม โดยต้องไม่หลงไปกับ “บริโภคนิยมทางจิตวิญญาณ” (spiritual consumerism) ซึ่งเกิดจากการทำมิติทางจิตวิญญาณให้กลายเป็นสินค้าที่มาบริโภคกัน ไม่ต่างจากสินค้าและบริการประเภทอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ดังนั้นเป้าหมายประการหนึ่งของการประชุมนี้ก็คือ การพยายามหาคำตอบว่า ความสุขนั้นจะหามาได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขท่ามกลางกระแสของสังคมสมัยใหม่ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยที่มุ่งศึกษาวิจัยความสุขในมิติต่างๆเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาที่การประชุมนี้มุ่งจะให้คำตอบ

วัตถุประสงค์
(1)เสนอทางออกให้แก่ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ว่าความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนนั้น จะได้มาได้อย่างไร
(2)เสนอแง่มุมใหม่ของการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความสุขจากมุมมองของวิชาการสาขาต่างๆ เช่นจิตวิทยา ประสาทวิทยา เศรษฐศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา พยาบาลศาสตร์ แพทยศาสตร์ และอื่นๆ
(3)กระตุ้นความสนใจที่จะค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับความสุขในแง่มุมต่างๆในสังคมไทย

การลงทะเบียน
ไม่เก็บค่าลงทะเบียน โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า ที่คุณอารีรัตน์ ศิริคูณ Email: areeratana@cpbequity.co.th โทร. 081-648-1195 คุณธนิตา ประภาตะนันทน์ Email: thanita_ps@hotmail.com โทร. 089-208-7611 หรือคุณอรุณี มุศิริ a_musiri@yahoo.com โทร. 089-481-7754

กำหนดการ


เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2550
8.30-9.00 ลงทะเบียน/รับเอกสาร
9.00-9.30 เปิดการประชุม
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
9.30-10.15 ความสุข ภาวะสูงวัย และจิตวิญญาณ
ประสาน ต่างใจ
10.15-10.45 พักรับประทานน้ำชา
10.45-11.30 ความสุข วิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนา
วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์
11.30-12.15 ความสุขในปรัชญาจีน
ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
12.15-13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-13.45 ความสุขในฐานะคุณค่าของสังคม
วีระ สมบูรณ์
13.45-14.30 ความสุขของผู้ทำงานเพื่อสังคม
พิมใจ อินทะมูล
14.30-15.15 ความสุข จิตวิญญาณ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย
สิวลี ศิริไล
15.15-15.30 พักรับประทานน้ำชา
15.30-16.15 “ความสุขของกะทิ”
งามพรรณ เวชชาชีวะ
16.15-17.00 ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข
สรยุทธ รัตนพจนารถ
17.00-17.45 เหตุใดสิ่งดีๆจึงมักจะเกิดกับคนดีๆ
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์


อาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม
9.00-9.30 ลงทะเบียน/รับเอกสาร
9.30-10.15 สุขภาพ ความมั่งคั่ง ความสุข
วิจิตร บุณยะโหตระ
10.15-10.45 พักรับประทานน้ำชา
10.45-11.30 นักทำใจให้เป็นสุข
กำพล ทองบุญนุ่ม
11.30-12.15 ความสุขในปรัชญาอินเดีย
ประพจน์ อัศววิรุฬหการ
12.15-13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-14.15 ความสุขในพระพุทธศาสนา
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี)
14.15-15.00 ดัชนีวัดความสุขกับโลกาภิวัตน์
เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ
15.00-15.15 พักรับประทานน้ำชา
15.15-15.45 ภาพยนตร์เรื่อง "เรื่องจริงบนแดนหลังคาโลก"
15.45-17.45 เสวนาพิเศษเรื่อง "ความสุขหลังเลนส์ ความสุขบริสุทธิ์ และความสุขแบบทิเบต"
อกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์
ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์
ปรัชวัณ เกตวัลย์
กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์

5 comments:

mamaoil said...

เข้ามาอ่านช้าไป

areelak said...

เสียดายเหมือนกันค่ะ เพิ่งเข้ามาอ่าน สนใจจะทำวิจัยเรื่องนี้อยู่พอดี มีอะไรเชิญแนะนำได้นะคะ

Soraj said...

ขอบคุณที่ส่ง comment มาครับ หากคุณอารีลักษณ์สนใจทำวิจัย ก็ติดต่อมาได้เลยครับ เพราะเรากำลังรวบรวมพลังของคนที่สนใจจะหาความรู้ด้านนี้ครับ

sroungtip said...

กำลังศึกษาปริญญาเอก มีความสนใจเรื่องของความสุข และกำลังค้นคว้าข้อมูล เสียดายที่เข้ามาพบเรื่องการประชุมช้า จึงรบกวนสอบถามว่ามีการจัดทำเอกสารการประชุมไว้เผยแพร่หรือไม่คะ และถ้ามีจะสามารถติดต่อได้ที่ใดคะ

Soraj said...

เรียนคุณรุ่งทิพ
เรามี CD อัดวิดิโอกับเสียงอยู่คับ มีแผนการจะถอดเทปออกมาพิมพ์ครับ แต่คงต้องอีกสักระยะหนึ่งนะครับ ถ้าอย่างไรติดต่อมาได้เรื่อยๆครับ