หนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา เพิ่งออกจำหน่ายเร็วๆนี้ คือ “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุงริมโปเช การเห็นทางธรรมสามระดับหมายถึงสามระดับของการรับรู้ทางธรรม ประกอบด้วยการเห็นอันไม่บริสุทธิ์ของผู้ที่ยังเป็นปุถุชน การเห็นของผู้ปฏิบัติธรรม และการเห็นอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า หนังสือเล่มนี้แปลจาก The Three Levels of Spiritual Perception พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Wisdom Publications สหรัฐอเมริกา
การเห็นสามระดับนี้หมายถึงลำดับขั้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ เริ่มตั้งแต่ผู้ที่ยังไม่มีการพัฒนาอะไรเลย มาถึงผู้ที่กำลังพัฒนาฝึกฝนตัวเอง จนท้ายที่สุดจบที่ผลลัพธ์ของการฝึกฝน ซึ่งได้แก่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า การเห็นระดับแรกเป็นการเห็นของบุคคลธรรมดาๆทั่วๆไป ที่มักเห็นอะไรที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลสกับการปรุงแต่งต่างๆ คนธรรมดาๆที่ยังไม่ได้ฝึกฝนทางธรรมจะเห็นสิ่งรอบตัวในแบบที่เจือไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ อยู่ตลอด ซึ่งทำให้คนธรรมดานี้ตกอยู่ใต้อำนาจของความทุกข์ และต้องว่ายเวียนอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่จบสิ้น ตัวอย่างของการเห็นในระดับนี้ก็เช่น เราเห็นรถใหม่ในงานแสดงรถแล้วเกิดความอยากได้ ความอยากได้นี้เรียกว่า “โลภะ” เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตอของความทุกข์ หรือเราเห็นอะไรที่เราไม่ชอบ เกิดหงุดหงิดขึ้นมาจากการเห็นนั้น ก็เป็นเรื่องของการเห็นทีไม่บริสุทธิ์เช่นกัน สาเหตุหลักของความทุกข์ที่ทำให้ผู้คนเจ็บปวดมาเป็นระยะเวลายาวนานหลายภพหลายชาติ ก็อยู่ที่การเห็นอันไม่บริสุทธิ์นี่เอง เป้าหมายของการฝึกฝนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือว่า ให้เราฝึกตัวเองให้พ้นจากสถานะอันไม่น่าพึงพอใจนี้
ในหนังสือ “การเห็นทางธรรม” เรื่องของการเห็นระดับแรก อันเป็นการเห็นที่ไม่บริสุทธิ์ของปุถุชนนี้ ก็มุ่งที่จะสอนให้คนธรรมดาๆทั่วๆไปเริ่มมองเห็นประโยชน์ของการเดินทางบนเส้นทางธรรม การเริ่มเดินทางนี้ก็เริ่มต้นที่การมองเห็นและเข้าใจว่าความทุกข์คืออะไร รู้ว่าไม่น่าพอใจอย่างไร เมื่อเกิดการรับรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ คิดว่าจะต้องมีอะไรที่มีความหมายมากกว่านี้ ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของการสั่งสอนพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้เรื้องต่างๆในหัวข้อการเห็นระดับแรกนี้ ก็ยังมีเรื่องกฎแห่งกรรม ผลร้ายของการปฏิบัติกรรมอันเป็นอกุศล ผลดีของการปฏิบัติกรรมอันเป็นกุศล ภพภูมิต่างๆ ความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ ความแน่นอนของความตาย ความยากลำบากของการเกิดเป็นมนุษย์ ความไร้สาระของโลกของปุถุชนหรือสังสารวัฏ จุดมุ่งหมายของการสอนเกี่ยวกับการเห็นอันไม่บริสุทธิ์ ก็คือให้ผู้เรียนมองเห็นความไร้สาระของโลกที่เป็นอยู่ ที่คนทั่วไปติดข้องอยู่ เกิดความเบื่อหน่ายในความไร้สาระนี้ และให้ตระหนักรู้ว่าทางเลือกที่ดีกว่ามีจริง และสามารถไปถึงได้ และการไปถึงนั้นต้องทำอย่างไร
การเห็นระดับที่สองเรียกว่า “การเห็นเชิงประสบการณ์” ซึ่งประสบการณ์ในที่นี้หมายถึงประสบการณ์ทางธรรมของผู้ที่กำลังฝึกฝนตนเองบนเส้นทางของธรรมะ เราอาจเรียกการเห็นระดับที่สองนี้ได้ว่า เป็นการเห็นในขั้นตอนเปลี่ยนผ่านจากการเป็นปุถุชนไปสู่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า เนื่องจากคำสอนเกี่ยวกับการเห็นทางธรรมสามระดับนี้เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนามหายาน เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่แค่แสวงหาการหลุดพ้นส่วนตัว แต่อยู่ที่พัฒนาโพธิจิต อันเป็นจิตที่มุ่งมั่นเข้าสู่การตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากกองทุกข์ ผู้ที่เดินตามเส้นทางแห่งโพธิจิตนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ดังนั้นผู้ที่มีการเห็นในระดับที่สองนี้ จึงก้าวข้ามระดับของการเป็นปุถุชนไปแล้ว เนื่องจากเขาตระหนักรู้แก่ใจอย่างลึกซึ้งว่าสังสารวัฏเต็มไปด้วยความทุกข์ จึงต้องฝึกฝนตัวเองเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความทุกข์นั้น รวมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์นี้ด้วย เรื่องนี้ก็เหมือนกับคนที่ “ตาสว่าง” สามารถมองเห็นอะไรได้อย่างชัดเจน จะมีความสงสารเพื่อนร่วมโลกที่ยังมองไม่เห็นอย่างที่ตัวเองเห็น มีสายตามืดบอดว่ายสะเปะสะปะไม่รู้ทิศทาง จึงทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เพื่อนๆมองเห็นได้แบบเดียวกับตนเอง ด้วยเหตุนี้หัวข้อต่างๆในระดับของการเห็นเชิงประสบการณ์นี้ จึงเป็นเรื่องโพธิจิตเป็นหลัก
โพธิจิตแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท หากแบ่งตามความตั้งใจของผู้ปฏิบัติ ก็แบ่งได้เป็น “โพธิจิตอธิษฐาน” กับ “โพธิสิตปฏิบัติ” อย่างแรกเป็นความตั้งใจจริงที่จะเลือกเดินทางบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เนื่องจากรู้แล้วว่ามีแต่การบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในท้ายที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนอย่างหลังเป็นการลงมือเดินบนเส้นทางนี้จริงๆหลังจากที่มีโพธิจิตแบบแรกแล้ว แต่หากแบ่งโพธิจิตออกตามลักษณะของความเป็นจริง ก็แบ่งได้เป็น “โพธิจิตสมมติ” กับ “โพธิจิตปรมัตถ์” อย่างแรกเป็นโพธิจิตที่ตั้งอยู่บนความจริงแบบสมมติ ซึ่งได้แก่ความจริงที่เป็นไปตามการปรุงแต่งต่างๆ ส่วนอย่างหลังเป็นโพธิจิตที่ตั้งอยู่บนความจริงแบบปรมัตถ์ที่เป็นอยู่จริงๆ การปฏิบัติในขั้นของโพธิจิตสมมติ ประกอบด้วยการบ่มเพาะความเมตตากรุณา การพิจารณาว่าตัวเองเสมอเหมือนกับสัตว์โลกอื่นๆทุกอย่าง การแลกเปลี่ยนตนเองกับสัตว์โลก ส่วนการปฏิบัติในขั้นตอนของโพธิจิตปรมัตถ์นั้นประกอบด้วยการฝึกสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัติในระดับของการเห็นขั้นที่สอง เป้าหมายของการปฏิบัติตามการเห็นขั้นที่สอง ได้แก่การบรรลุถึงระดับของการเห็นขั้นที่สาม อันเป็นการเห็นอันบริสุทธิ์ของผู้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า
กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมคำสอนทั้งหมดเกี่ยวกับการพัฒนาฝึกฝนตนเอง จากผู้ที่ไม่มีอะไร เป็นปุถุชนเต็มที่ จนถึงการบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกี่ยวกับพระอาจารย์เตชุงริมโปเช
พระอาจารย์เตชุงริมโปเช (Deshung Rinpoche) เป็นพระอาจารย์ที่สำคัญมากที่สุดรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาทิเบต ท่านเป็นพระอาจารย์ในสายสาเกียปะ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 1906 ถึงปี 1987 ท่านเป็นพระภิกษุที่คงแก่เรียนมาก และเป็นที่รู้จักนับถือกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมากๆรูปหนึ่ง
รูปหน้าปก
รูปหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ เป็นรูปของพระมหาสิทธิวิรูปะกำลังหยุดดวงอาทิตย์ วาดโดยคุณอธิพงศ์ ภาดานุพงศ์ พระมหาสิทธะวิรูปะเป็นพระอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาในอินเดียในอดีต ท่านเป็นต้นรากของคำสอนที่พัฒนามาเป็น “การเห็นทางธรรมสามระดับ” นี้ ซึ่งเรียกในภาษาทิเบตว่า “ล้มเดร” เรื่องราวชีวิตของท่าน ตลอดจนเหตุว่าทำไมท่านจึงหยุดดวงอาทิตย์ได้ และหยุดไปเพราะเหตุใด มีอยู่ในหนังสือแล้ว
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด “คำสอนจากมหาวิทยาลัยนาลัทา” ของสำนักพิมพ์มูลนิธิพันดารา
No comments:
Post a Comment