Power of the Mind
บรรยายธรรมและฝึกปฏิบัติกรรมฐานแบบทิเบต
อานุภาพของจิตใจ (Power of the Mind)
วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่เก็บค่าลงทะเบียน มีอาหารว่างบริการ
หลักการและเหตุผล
มูลนิธิพันดาราได้จัดกิจกรรมภาวนา บรรยายธรรม เสวนาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและประชุมทางวิชาการในหัวข้อเกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญาณและยุคสมัยที่เราดำรงอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตลอดนับแต่มีการจัดตั้งมูลนิธิในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ปฏิบัติธรรม นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะจากทิเบตหิมาลัย และเพื่อให้สังคมได้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับคุณธรรมต่างๆ เช่น ความเมตตากรุณา ความปรองดองกัน อันจะทำให้เกิดสันติสุขและสันติภาพที่ยั่งยืน
ในปี ๒๕๕๖ นี้ เราจะเริ่มกิจกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยบรรยายพิเศษและฝึกปฏิบัติกรรมฐานในหัวข้อ “อานุภาพของจิตใจ” (Power of the Mind) ซึ่งถือว่าเป็นการทำรีทรีทวันเดียวที่ตอนเช้าเน้นการให้ความรู้ หลักการในการภาวนา ในตอนบ่ายเน้นการทำสมาธิ ผู้สนใจจึงควรเข้าร่วมกิจกรรมทั้งวันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
พระอาจารย์ผู้นำภาวนาได้แก่ ลาตรี เกเช ญีมา ทรักปา ริมโปเช ธรรมาจารย์ด้านการทำสมาธิแบบทิเบตโดยเฉพาะในสายซกเช็น (Dzogchen) ผู้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมในหลายประเทศทั่วโลก
เกี่ยวกับหัวข้อการบรรยาย
ในทางพระพุทธศาสนา จิตมีอานุภาพยิ่งใหญ่มาก มีคำกล่าวในพระธรรมบทว่า
“ธรรมทั้งหลายมีใจนำหน้า มีใจเป็นใหญ่ และสำเร็จขึ้นด้วยใจ” ดังนั้น
การฝึกจิตเพื่อให้เราเป็นนายของจิต ไม่ใช่ให้จิตมาเป็นนายเรา จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ จิตใจยังเป็นตัวกำหนดการรับรู้ของเรา และจริงๆแล้วเป็นตัวกำหนดว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นอย่างไร หากเรามีจิตใจที่ดี ก็แน่นอนว่าโลกและสิ่งแวดล้อมของเราจะไปในทางที่ดี แต่หากจิตใจของเราไม่ดี เช่น ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ก็จะทำให้เราตกอยู่ในโลกและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนา ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธจึงสนใจการปฏิบัติเพื่อฝึกจิตเป็นอย่างยิ่ง
พระอาจารย์ญีมา ทักปา ริมโปเช ก็จะมานำภาวนา ชี้ให้เห็นความสำคัญและอานุภาพของจิตใจ รวมถึงสอนวิธีการฝึกจิตและการทำสมาธิแบบพุทธทิเบตอีกด้วย
วัตถุประสงค์
๑. อบรมทางวิชาการเกี่ยวกับอานุภาพของจิตใจ และความสำคัญของการฝึกจิตในชีวิตประจำวัน
๒. นำเสนอกิจกรรมทางธรรมะและวิชาการสู่ประชาชน
๓. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติ และสร้างความเข้าใจระหว่างกันระหว่างประเพณีทางพระพุทธศาสนาของไทยและทิเบต
รูปแบบ
ช่วงเช้า บรรยายธรรม ซักถาม สวดมนต์ภาวนา
ช่วงบ่าย ฝึกปฏิบัติ มนตราภาวนา ซักถาม
บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยโดยอาจารย์กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
ลงทะเบียน
สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ที่ 1000tara@gmail.com ภายในวันที่ 13 มีนาคม 2556 เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดอาหารกลางวัน
No comments:
Post a Comment